หัวฉีด-Fuel Injector
โดย ลุงหนู อู่จุรีรัตน์-JAS
30 พ.ค. 2565
หัวฉีด-Fuel Injector
โดย ลุงหนู อู่จุรีรัตน์-JAS
30 พ.ค. 2565
หัวฉีดติดตั้งอยู่กับห้องอากาศขาเข้า ก่อนวาวล์ไอดี ทำหน้าที่พ่นน้ำมันออกมาให้เป็นฝอย(Atomised Fuel) เพื่อไปผสมกับอากาศภายในกระบอกสูบ จากนั้นหัวเทียนก็จะทำให้เกิดประกายไฟเกิดการสันดาปขี้นภายในกระบอกสูบทำให้เกิดแรงไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยงของเครื่องยนต์ต่อไป ภายในหัวฉีดจะมีส่วนประกอบหลักคือกรองน้ำมัน(Fuel Filter) วาวล์เปิด-ปิดน้ำมัน(Solenoid) หัวสเปรย์(Spray Tip)
กรองน้ำมัน(Fuel Filter ) ทำหน้าที่ดักฝุ่นผงเล็ก ๆ ทีปนเปื้อนมากับน้ำมันที่ส่งมาจากถังน้ำมันเพื่อป้องกันไม่ให้หัวสเปรย์(Spray Tip)อุดตัน
วาวล์เปิด-ปิดน้ำมัน (Solenoid) ทำหน้าที่เปิดให้น้ำมันพ่นออกไปยังกระบอกสูบ การเปิด-ปิดจะถูกควบคุมด้วย ECU(Engine Control Unit) ในสองลักษณะคือความถี่ในการเปิด-ปิด(Frequency) และคาบเวลาในหารเปิด-ปิด(Duty Cycle)
หัวสเปรย์ (Spray Tip) เป็นช่องเล็กๆ ขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของหัวเข็มหมุด ถูกเจาะไว้มากกว่า 1 รู เพื่อทำให้น้ำมันที่พ่นออกมากลายเป็นฝอยละเอียด จะได้ไปผสมกับอากาศได้ดี
สำหรับราคาหัวฉีดนั้นเครื่องยนต์เบนซินก็มีราคาตั้งแต่ 800-3,000 บาทต่อ 1 หัวแล้วแต่แบรนด์ของรถยนต์ ส่วนหัวฉีดดีเซลนั้นก็มีราคาตั้งแต่ 10,000-30,000 บาทต่อ 1 หัว แล้วแต่แบรนด์ของรถยนต์
อาการชำรุดที่พบบ่อย
1 หัวฉีดอุดตัน เกิดจากคราบเขม่าจับอยู่ในหัวสเปรย์ หรือมีฝุ่นผงเข้าไปอุดในหัวสเปรย์หรือกรองน้ำมัน ทำให้การฉีดน้ำมัน(Spray Pattern)ผิดปกติ รถจะมีอาการเครื่องยนต์เดินไม่เรียบ เร่งไม่ออก กินน้ำมัน กำลังลดลง
2.หัวฉีดรั่ว เกิดจาก วาวล์เปิด-ปิด น้ำมันปิดไม่สนิททำให้มีน้ำมันหยดเข้าไปในกระบอกสูบ เครื่องยนต์จะมีอาการสะดุด แบบสุ่ม(Random) ซึ่งจะแสดงอาการชัดเจนในรอบเครื่องยนต์ต่ำ เช่นรอบเดินเบา รถจะกินน้ำมันและควันดำ
3.หัวฉีดไม่จ่ายน้ำมัน เกิดจากวาวล์เปิด-ปิดน้ำมันไม่ทำงาน เครื่องยนต์จะเดินไม่ครบสูบมีอาการสั่นมาก กินน้ำมันและกำลังลดลง
การบำรุงรักษาหัวฉีด
1.การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน(Preventive Maintenance) ใช้น้ำยาล้างหัวฉีดผสมลงในถังน้ำมันจะช่วยรักษาหัวฉีดให้สะอาดอยู่เสมอป้องกันการอุดดันจากคราบเขม่า ช่วยลดควันดำ ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างหัวฉีดได้แก่ Bullsoneshot, Wurth ฯลฯ การใช้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ตามปกติจะเติมน้ำยาล้างหัวฉีด 1 ขวด ต่อน้ำมัน 50-60 ลิตร และเติมทุก ๆ 5,000 กิโเมตร น้ำยาล้างหัวฉีดก็มีราคาขวดละประาณ 200-500 บาท
2.การซ่อมแก้ไข(Corrective Maintenance ) วิธีนี้จะใช้เมื่อตรวจพบอาการผิดปกติจากหัวฉีดแล้ว เราต้องถอดหัวฉีดออกจากเครื่องยนต์นำไปล้างด้วยน้ำยาล้างหัวฉีดโดยใช้อุลตร้าโซนิกคลีนเนอร์แล้วถอดเปลี่ยนกรองน้ำมันและ Spray Tip จากนั้นนำเข้าเครื่องทดสอบเพื่อดู Spray Pattern และวัดปริมาณน้ำมันที่ฉีดออกมาว่าตรงตามคุณลักษณะที่ผู้ผลิตกำหนดไว้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 2,000-3,000 บาทสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และประมาณ 6,000-9,000 บาทสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
ลุงหนู อู่จุรีรัตน์-JAS 30 พ.ค.65